การดูแลรักษาสมอง : Brain

นที่ทำงานกราฟิก (หรืออาชีพอะไรก็แล้วแต่) ที่ต้องใช้ความคิดอยู่ตลาดเวลา สมองต้องทำงานหนักตามไปด้วย ดังนั้นสมองต้องแข็งแรงถึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำถามก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะทำให้สมองแข็งแรง บังเอิญไปเจอบทความที่น่าสนใจเข้า เป็นไฟล์ Word เลยไม่ทราบต้นตอว่ามาจากไหน ยังไงก็ขอบคุณต้นฉบับไว้ ณ ที่นี้ สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ครับ

10 วิธีรีเฟรชชีวิต
คร่ำเคร่งกับงานมาทั้งวันอย่าปล่อยให้ร่างกายหมดพลังไปเลยล่ะ เจียดเวลาสักเล็กน้อยลองทำตามวิธีเหล่านี้ดูจะช่วยชาร์จพลังให้ชีวิตคุณได้

• นวดใบหู นวดบริเวณดังกล่าวประมาณ 5 วินาที สามารถคลายอาการปวดศีรษะและปวดบริเวณต้นคอได้

• ดื่มน้ำมากๆ
ควรจะดื่มน้ำบ่อยๆ แม้ว่าคุณจะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม เพราะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า การที่ร่างกายขาดน้ำจะทำให้คุณดูอิดโรย ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น

• หัวเราะดังๆ
การมีอารมณ์ขันและหัวเราะเสียงดังบ้างเป็นครั้งคราวช่วยกระตุ้นให้คุณได้ใช้พลังงานอย่างเต็มที่

• หายใจให้ลึก
โดยการหายใจลึกๆ ซึ่งจะช่วยให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนทั่วถึง

• อาบน้ำร้อนสลับกับน้ำเย็น
อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนไป เป็นการกระตุ้นให้คุณรู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่าไปได้ทั้งวัน

• ออกไปโดนแดด
แสงแดดที่ไม่แรงนัก เช่น ในเวลาเช้า ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน D และยังกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทบางประเภทในสมอง เช่น ซีโรโตนิน (Serotonin) และ โดพามีน (Dopamine) ซึ่งมีผลในการควบคุมอารมณ์

• ท้าทายสมอง
ลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง เช่น ลองเปลี่ยนเส้นทางใหม่ระหว่างการไปทำงาน ช่วยฝึกให้สมองได้คิดและมีการพัฒนามากขึ้น
• แอบงีบบ้างไม่ผิด ถ้ารู้สึกอ่อนล้ามากๆ ลองงีบพักสักครู่จะช่วยให้คุณสดชื่นขึ้น

• ฝึกทักษะให้สมอง
การเรียนรู้ภาษาใหม่ๆหรือการเล่นเกม เช่น หมากรุก จะช่วยพัฒนาสมองและช่วยให้สมองไม่ล้าจากการทำงาน

• สดชื่นเข้าไว้
ข้อนี้สำคัญมากครับ ยิ่งถ้าคุณรู้สึกเบื่อ อ่อนล้า เหนื่อยอ่อน มากเท่าไรก็จะเป็นการดูด พลังงานของคนรอบข้างให้รู้สึกเช่นนั้นไปด้วย อาจจะลองหาที่สงบอยู่กับตัวเองซักพัก เมื่อรู้สึกดีขึ้นโดยอาจจะลองปฎิบัติวิธีที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดแล้วค่อยกลับมาเริ่มงานด้วยความสดชื่นต่อไป

ฝึกสมองให้รู้จักจำ
มีเรื่องให้จัดการเยอะบางทีก็มีเรื่องให้ลืมเป็นธรรมดา แต่...ถ้าเกิดไปลืมเรื่องสำคัญเข้าละก็แย่แน่ๆ วันนี้เรามีวิธีฝึกสมองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ รับรองว่าไม่ยาก

1.จดบันทึกช่วยจำ การจดบันทึกลงในสมุดที่มีวันที่กำกับ จะช่วยให้คุณแพลนเรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือที่ต้องทำในเดือนถัดไป จดเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่เพื่อนฝูง วันเกิด ข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่คุณเป็นและการรักษา รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของคุณในแต่ละวัน คำคมที่ชอบ ฯลฯ การจดจะช่วยย้ำให้สมองจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น หรือถ้าจำไม่ได้ พกสมุดบันทึกติดตัวไปเปิดดูยามที่นึกอะไรไม่ออก ก็ช่วยได้ดี

2. พูดกับตัวเองดังๆ "เรากำลังจะเอาสูทไปซักแห้ง แล้วจะเลยเอารถไปเช็คที่ศูนย์ แล้วแวะไปฟิตเนสต่อ" การพูดก็เหมือนกับจดบันทึก ยามเช้าก่อนเริ่มออกจากบ้าน นึกถึงสิ่งที่คุณต้องทำในวันนั้น แล้วพูดออกมาดังๆ ซ้ำๆกันหลายๆหน ถ้าคิดว่ายังจำไม่ได้และเป็นกังวล ลองใช้เครื่องบันทึกเทปเล็กๆ อัดเสียงที่คุณพูด และนำเทปติดตัวไปเปิดยามที่นึกไม่ออกว่าจะทำอะไร

3. ติดโน้ต เวลาที่มีการนัดหมายหรือนึกขึ้นมาได้ว่าต้องทำอะไรในวันที่ยังมาไม่ถึง ให้เขียนสิ่งที่จะทำลงบนกระดาษโน้ต แปะไว้ในที่ๆ คุณต้องเห็นเป็นประจำ เช่น ที่ประตูตู้เย็นในครัว,บอร์ดช่วยจำที่ติดไว้ตรงทางเดินก่อนออกจากบ้าน หรือในรถ ทุกครั้งที่เห็นโน้ตที่ติดไว้ คือการเตือนสมองให้จดจำเรื่องเหล่านั้นได้แม่นยำขึ้น

4. เก็บข้าวของให้เป็นที่ เก็บของให้เป็นที่ในที่ที่ควรจะเป็น เช่น เก็บยาที่ต้องกินก่อนนอนไว้ที่โต๊ะข้างเตียง ข้างขวดน้ำดื่ม, เก็บกุญแจไว้บนโต๊ะเล็กๆ ข้างประตูทางออก ช่วยให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลานึกทุกครั้งที่จะใช้ข้าวของที่ว่า

5. อย่าจับปลาหลายมือ ไม่ได้หมายถึงการมีแฟนทีเดียวหลายๆ คนนะ แต่หมายถึงคนที่ชอบทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ดูทีวี ในขณะที่หูก็ฟังเสียงเพื่อนในโทรศัพท์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการจำ ควรจะเลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

6.ปฎิบัติตัวเป็นกิจวัตร การทำซ้ำๆ เหมือนๆกัน ช่วยให้สมองจำได้เองโดยไม่ต้องพยายาม เช่น ถ้าทุกครั้งที่อ่านหนังสือยังไม่จบแต่ต้องไปทำอย่างอื่น คุณวางมันไว้ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำ เมื่อเสร็จธุระจะกลับมาอ่านต่อ สมองจะสั่งการโดยอัตโนมัติว่าจะต้องไปหยิบหนังสือที่ไหน

7. ใช้ทริคช่วยจำ ทริคประเภทท่องจำ,คำย่อ,คำคล้องจอง อย่างสมัยที่เราทำตอนเด็กๆ ประเภท "ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ..." ยังใช้ได้ดีในกรณีนี้ ยิ่งถ้าต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในวันเดียว เอามาผูกเป็นเรื่องอย่างข้างต้น หรือจะใช้ตัวย่อ เช่น ฟ-ส-น-ม (ทำฟัน-เอาหนังสือไปคืนเพื่อน-เติมน้ำมันรถ-จ่ายค่ามือถือ) ก็ได้

8. ช้าๆได้พร้าเล่มงาม ทำอะไรให้ช้าลงหน่อย เพราะสมองเราจะจำอะไรได้ช้าลงเมื่ออายุมากขึ้น การพูดเร็ว ทำเร็ว จนเกินไปก็มีส่วนทำให้สมองเก็บเรื่องราวเหล่านั้นไว้ไม่ทัน

9. ร่างกายแข็งแรง ความจำก็แข็งแรง ดูแลตัวเองให้ดี กินอาหารให้ครบหมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายแข็งแรง ความจำก็จะดีไปด้วย

10. บริหารสมอง ทำกิจกรรมที่แตกต่าง เช่น เล่นเกมส์,อ่านหนังสือ,เล่นดนตรี ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้สมองได้ออกกำลัง ก็เหมือนกับร่างกาย เมื่อได้ออกกำลังก็จะแอคทีฟขึ้น คิดอะไรได้ฉับไว และที่แน่ๆ ช่วยให้ความจำดี

11. เข้าใจความถนัดของตัวเอง คนเราแต่ละคนที่ความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนจำได้ดีเมื่อได้มองเห็น (จดบันทึก) บางคนจำได้ดีกว่าเมื่อได้ยินเสียง (พูดดังๆ/อัดเทป) แต่ก็มีบางคนจะจำได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฎิบัติหรือมีประสบการณ์ร่วม (เขียน/ทำ)

นิสัยแบบไหนที่ดีกับสมอง
รู้หรือไม่ว่านิสัยการใช้ชีวิตประจำวันของคุณบางอย่างนั้นมีส่วนในการลดประสิทธิภาพการทำงานของสมองของโดยไม่รู้ตัว ถ้าจะให้ดีลองปรับเปรียนนิสัยตามคำแนะนำด้านล่างนี้ดูรับรองว่าสมองจะยังกระชุ่มกระชวยไปได้อีกนาน

1. ห้ามพลาดมื้อเช้า การละเลยไม่กินอาหารเช้า ทำให้ขาดสารอาหารไปเลี้ยงสมองเป็นสาเหตุของสมองเสื่อม (ช่วงเวลาที่นอนหลายชั่วโมงร่างกายขาดน้ำและอาหารอย่างน้อย 5 ชั่วโมง รวมเวลาตื่นเช้า อาบน้ำแต่งตัว ไปทำงาน ถ้าจะรอไปกินมื้อเที่ยง รวมๆ แล้วเป็นเวลาอย่างน้อยก็ 10 ชั่วโมง ที่สมองขาดอาหาร) ลองสังเกตช่วงที่กินอาหารเช้าเป็นประจำจะรู้สึกสดใสมากขึ้น แถมยังช่วยให้เริ่มงานตอนเช้าอย่างอารมณ์ดี และมีประสิทธิภาพ

2. อิ่มพอดีๆ สังเกตปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อให้อิ่มกำลังดี อย่าตามใจปาก กินมากเกินไปจะทำให้หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัวเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความจำสั้น

3. เลิกบุหรี่ เพื่อตัดต้นเหตุของโรคสมองฝ่อ และอัลไซเมอร์ รวมถึงอันตรายที่จะเกิดแก่อวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายอีกมากมาย

4.หวานน้อยๆ ดีกว่า เลือกกินขนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบแต่น้อย พอให้มีรสชาติและรู้สึกสดใส อย่าลืมว่าของหวานนั้นหากกินมากเกินไป จะขัดขวางการดูดซึมโปรตีนและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารและขัดขวางพัฒนาการของสมองอีกด้วย

5.หลีกเลี่ยงมลพิษ หลีกไม่ได้ก็ต้องพยายามเลี่ยงให้ได้ เพราะการสูดอากาศที่เป็นมลพิษเข้าไปในร่างกาย ส่งผลให้ออกซิเจนในสมองลดลง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองถดถอย

6.นอนให้พอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอช่วยให้สมองส่วนความจำทำงานได้ดี สามารถรวบรวมข้อมูลในเช้าวันใหม่ได้เต็มที่เรียกว่าพร้อมรับกับสิ่งใหม่ในวันใหม่นั่นเอง ในทางตรงข้ามอันตรายจากการอดนอนเป็นเวลานาน จะทำให้เซลล์สมองตายได้

7.ไม่นอนคลุมโปง เวลานอนคลุมโปง อากาศที่เราหายใจจะมีจำกัด และไม่ถ่ายเทเป็นการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น และลดออกซิเจนให้น้อยลงส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง

8. อย่าฝืนใช้สมองเมื่อป่วย ป่วยก็ต้องพัก การใช้สมองขณะที่กำลังป่วยเป็นการเร่งให้สมองทำงานหนักขึ้น แถมสมองที่ไม่แข็งแรงก็ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพยิ่งฝืนก็ยิ่งทำร้ายสมองของตัวเอง

9.ใช้หัวบ่อยๆ การคิดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เป็นการเพิ่มรอยหยักให้สมอง ป้องกันอาการสมองฝ่อไปในตัว

10.พูดคุยเข้าไว้ ทักษะการพูดเป็นมาตรวัดประสิทธิภาพอีกอย่างหนึ่งของการทำงานของสมองอีกทั้งการพูดยังเป็นการแบ่งปันความคิด หรืออารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะเวลาเครียดคิดอะไรอย่าเก็บไว้คนเดียว พูดคุยปรึกษากับคนข้างๆ บ้าง จะช่วยผ่อนคลายสมองแถมช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้ปรองดองแน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิมเสียด้วย.

รู้จักฝึกสมองให้ไหลนอกทาง
การทำงานของสมองเปรียบได้กับฝน เมื่อฝนแรกตกลงมายังพื้นดิน ฝนแต่ละเม็ดต่างไหลลงมาที่ลาด ต่างคนต่างไหล แต่นานๆไปเม็ดฝน 4-5 เม็ด จะไหลมารวมตัวกันเป็นสายเดียวกัน พอฝนใหม่ตกลงมาบนพื้นดินนี้ เม็ดฝนใหม่ก็จะไหลไปตามสายน้ำที่มีอยู่ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆไป จนสายน้ำลึกขึ้น กว้างขึ้น เป็นคลองเป็นแม่น้ำ การรวมตัวกันเอง จัดการตัวเองของฝนเช่นนี้ เรียกได้ว่าเป็นระบบข้อมูลที่จัดการด้วยตัวเอง (Self organizing Information System) ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับการทำงานของสมองของคนเรา ตัวอย่างเช่น วันแรกที่เราเริ่มไปทำงาน เราเดินทางจากบ้านไปที่สำนักงาน จิตใจอาจตื่นเต้นหรือกังวลกับเส้นทางใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ในที่สุดเราก็ไปถึงสำนักงาน ณ จุดนี้เองสมองเราเริ่มทำหน้าที่เปิดกล่องข้อมูลใหม่ไว้อย่างดี พอรุ่งขึ้นเราจะออกเดินทางจากบ้านไปสำนักงานอีก คราวนี้สมองจะช่วยเราอย่างมาก เพราะสมองได้จำไว้แล้วในกล่องข้อมูล สมองจะส่งข้อมูลให้เราทันทีว่า “ฉันรู้ว่าต้องไปอย่างไร ฉันจะบอกให้” เราไม่ต้องออกแรงคิด เพราะสมองช่วยเราได้อย่างดี ด้วยระบบการจัดข้อมูลด้วยตัวเอง หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “ฝนตกลงมา น้ำไหลเป็นทาง”

ความสำคัญของโปรตีนต่อสมอง
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าสมองนั้นต้องอาศัยสารสื่อนำประสาทในการส่งผ่านข้อมูล เพื่อเชื่อมเซลล์ประสาททั้งหมดให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสารอาหารที่นำมาใช้สร้างสารสื่อนำประสาทในสมองก็คือ โปรตีนนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าในหนึ่งวันเราได้รับโปรตีนไม่เพียงพอก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองอย่างแน่นอน ซึ่งในหนึ่งวันเราควรได้รับโปรตีนวันละ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. เช่น คนหนัก 65 ก.ก. โปรตีนที่ต้องการในหนึ่งวันคือ 65 กรัม เป็นต้น โดยร่างกายจะย่อยโปรตีนเป็นกรดอะมิโนเดี่ยวๆ และแบบเรียงตัวต่อกันเรียกว่า “เปปไทด์” ซึ่งรูปแบบของโปรตีนที่ดีที่สุดก็คือ “เปปไทด์” นี่เอง เพราะร่างกายดูดซึมได้เร็วกว่ากรดอะมิโนเดี่ยวๆ เมื่อดูดซึมได้เร็วร่างกายก็นำไปสร้างสารสื่อนำประสาทในสมองได้รวดเร็วเช่นกัน โปรตีน “เปปไทด์” จึงนับได้ว่าเป็นสารอาหารเพียงหนึ่งเดียว ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้อย่างรวดเร็ว เป็นแหล่งโปรตีนของสมองที่เหมาะกับชีวิตอันเร่งรีบในปัจจุบันอย่างมาก

ทำความรู้จักสมองทั้งสองซีก
สมอง เป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์ ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตและคิดสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่าง สมองจึงเป็นเครื่องมือในการทำงานที่เราจำเป็นต้องดูแลอย่างดีที่สุด สมองเกี่ยวข้องกับความสามารถในด้านต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานของมนุษย์ โดยสมองของคนเรานั้นแบ่งเป็น 2 ซีก คือ ซีกซ้าย และซีกขวา ซึ่งมีหน้าที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งควบคุมความรู้สึก การรับรู้ ควบคุมระบบความคิด ความจำ การแสดงพฤติกรรม และการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยสมองซีกซ้ายนั้นทำหน้าที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ การแยกแยะ เหตุผลส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ โดยจำแนกได้ดังนี้

สมองซีกขวา
- การมองอะไรที่เป็นมิติ และช่องว่างบนพื้นผิว (Spatial)
- การเข้าใจภาษาง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน
- การรับรู้ลวดลายทางด้านศิลปะ การแสดงละคร
- ความคิดสร้างสรรค์
- การมีอารมณ์ขัน
- การรับรู้เกี่ยวกับการสัมผัส
- ความคิดเชิงนามธรรม
- การใช้ภาษาท่าทางหรือภาษากาย
- การทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน

สมองซีกซ้าย
- การแสดงออกทางด้านการพูด
- การรับรู้ด้านภาษา
- การใช้กล้ามเนื้อแขนขาและมือ
- ความระมัดระวัง
- การเรียนรู้โดยการจัดหมวดหมู่
- การค้นหาความเหมือนกัน
- การมีสติควบคุมตัวเอง
- การสร้างแนวคิดใหม่ๆ หรือความคิดรวบยอดที่เราเรียกว่าการวาง Concept
- การวิเคราะห์เกี่ยวกับเวลา
- การเรียนคณิตศาสตร์คำนวณ การเข้าใจจำนวน
- การเขียน
- การจำแนกซ้ายขวา
- การจัดลำดับสิ่งของ

การทำงานของสมองนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยสารสื่อนำประสาท ภายในสมองเรานั้นมีเส้นใยประสาทมากมายเชื่อมต่อกัน และส่งข้อมูลโดยอาศัยสารสื่อนำประสาทที่สร้างมาจากโปรตีนเป็นตัวเชื่อมเซลล์ประสาททั้งหมด สมองประกอบด้วยคลื่นหลายชนิดตามภาวะของร่างกาย โดยคลื่นสมองที่ดีที่สุดในการทำงานก็คือ High Band Alpha ที่มีความถี่ 10-13 Hz ซึ่งจะเกิดภาวะผ่อนคลายแต่ตื่นตัว มีสมาธิ และมีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน เรียนรู้และจดจำ การเปลี่ยนแปลงของภาวะต่างๆ ในสมองนั้นเกิดจากสารสื่อนำประสาทซึ่งใช้แล้วหมดไป เมื่อหมดสมองก็เกิดอาการล้า คิดไม่ออก ทำให้ต้องมีการผลิตสารสื่อนำประสาทขึ้นมาใหม่จากโปรตีน


ลองเอาไปใช้กันดูนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมเอาไปปฏิบัติตามลองดูบางข้อ รู้สึกว่าสุขภาพจิตดีขึ้น เมื่อก่อนหลับดึกตื่นเช้า ข้าวไม่ได้กินไปทำงาน ติดๆ กันก็อาการปวดหัวกำเริบอยู่บ่อยๆ พอตื่นเช้าขึ้นอีกหน่อยเพื่อมีเวลากินข้าวแล้วดื่มน้ำเยอะขึ้น อาการพวกนี้ก็หายไปเลย แถมรู้สึกว่าอารมณ์ดีขึ้นและการคิดอะไรก็ฉับไวสมองปราดเปรียวกว่าเดิม แนะนำอีกอย่างครับว่า ควรฝึกสมาธิควบคู่ไปด้วย (Meditation) จะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำอยู่อย่างสม่ำเสมอนะครับ ไม่ใช่ว่าทำวันเดียวเห็นผลเลย