สำหรับกราฟิกมือใหม่ หรือแม้กระทั่งมือเก่าก็ตามที ร้อยทั้งร้อยแน่นอนว่าต้องเคยทำงานพลาดมาก่อน คำพูดที่ว่า "คนไม่ทำงาน คือคนที่ไม่เคยทำผิด" อย่าเอามาใช้ครับ มันเป็นข้ออ้างข้อหนึ่งในหลาย ๆ ข้อที่จะนึกได้ตามมาเรื่อย ๆ เพื่อที่จะปัดความผิดออกจากตัวยามเกิดปัญหางานผิด ลองมองย้อนกลับไปดูสาเหตุต้นตอของปัญหาจริง ๆ ไม่มากก็น้อยเราก็มีส่วนด้วยทั้งนั้น งานพิมพ์ออกมาสีเพี้ยน เป็นเพราะไม่ได้ปรับรูป หรือถ้าปรับแล้ว แต่ไม่ได้ตรวจดู Plate แม่แบบที่จะเอาไปใช้พิมพ์ หรือไม่ก็ไม่เข้าไปดูหน้าแท่นเพื่อเช็คสี บลา ๆ ๆ
ผลของการทำงานผิดพลาดในงานพิมพ์นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย เพราะทุกอย่างมันเป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น พิมพ์ออกมาเสร็จแล้ว อ้าวเฮ้ย!! หน้าปกทำไมสะกดคำผิด คิดดูนะครับว่าถ้าพิมพ์ออกมา 10,000 เล่ม ทั้งโรงพิมพ์คงมีคนเอาเท้ามาก่ายหน้าผากแน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่เสียเวลาตรวจให้ชัวร์อีกหน่อยก็กันปัญหาตรงนี้ได้แล้วแท้ ๆ ยังครับยังไม่หมด งานนี้ต้องมีแพะ จะใครซะอีก ก็ Graphic Designer ตัวพ่อที่นั่งหน้าซีดอยู่หน้าคอมนี่แหละ (อาจมีฝ่ายพิสูจน์อักษรพ่วงมาด้วย) ต่อให้หาข้ออ้างได้มากข้อแค่ไหนก็ตาม คนผิดก็ต้องผิดอยู่วันยังค่ำ หนังสือ 10,000 เล่มต้องมีคนรับผิดชอบ คราวนี้ล่ะคุณเอ๋ย ทำงานใช้หนี้กันทั้งชาติ นี่คือตัวอย่างที่มีเกิดขึ้นจริง ๆ
แล้วทำไมเราต้องมาทำให้มันเกิดเป็นปัญหา ในเมื่อเราป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้
การกำหนดขั้นตอนการทำงานให้เป็นระบบ จะช่วยป้องกันปัญหาตรงนี้ได้
1. เตรียมข้อมูล วัตถุดิบในการทำงาน และ Concept ในการออกแบบงานไว้ให้พร้อม โดยให้ลูกค้าเตรียมไฟล์งานให้เป็นระเบียบ เช็คดูว่า รูป และข้อมูลครบหรือยัง แล้วถาม Concept จากลูกค้าว่าต้องการให้ Artwork ออกมาเป็นอย่างไร สีออกโทนไหน ให้ลูกค้าได้ออกความคิดให้มากที่สุด เราไม่เหนื่อนเท่าไหร่ ลูกค้าก็ได้งานตามที่ต้องการ ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อป้องกันการทำงานที่ต้องแก้แล้วแก้อีก หรือทำงานใหม่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ มันเซ็งครับ มีอีกกรณีครับ หากเราไม่ได้เป็นคนติดต่อลูกค้าโดยตรง แต่เป็นฝ่ายการตลาดเป็นคนไปเจอลูกค้าแทนเรา ฝ่ายการตลาดก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องงานกราฟิกมาเท่าเรา บางครั้งก็ ครับ ครับ ครับ มาอย่างเดียว โดยหารู้ไม่ว่าไอ้ที่ครับนั่นน่ะ แก้ยากทำยากชิบ บางทีก็ทำไม่ได้เลย หรือทำได้แต่ใช้เวลานาน (งานเล็ก ๆ แต่เราต้องใช้เวลาทำเป็น 2 - 3 อาทิตย์ คุ้มมั๊ย?) เราต้องลากฝ่ายการตลาดมาคุย และสอนให้เข้าใจถึงความเป็นไปได้และขอบเขตในการทำงานด้วย ค่อย ๆ สอนไป เดี๋ยวความรู้ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น คราวต่อ ๆ ไป เขาก็สามารถรับงานแทนเราได้สบาย
2.เมื่อทำงาน Artwork เสร็จ ต้องมีการตรวจทุกครั้ง ทั้งทางเราเป็นคนตรวจ และให้ลูกค้าตรวจด้วย เมื่อตรวจและแก้ไขแล้วก็ให้พิมพ์ต้นฉบับออกมา แล้วให้ลูกค้าเซ็นชื่อกำกับไว้ด้วยว่า "ตรวจแล้ว" ทางฝ่ายลูกค้าก็จะได้ตั้งใจตรวจให้เราด้วย อีกอย่างคือ ในกรณีตรวจต้นฉบับที่เป็น Poster, ใบปลิว, แผ่นพับ หรืออะไรที่แปลกๆ ควร Print ออกมาในขนาดเท่างานจริงเวลาตรวจจะได้เห็นภาพชัดเจน รวมถึงสีที่จะออกมาด้วย ต้องบอกให้ลูกค้าเข้าใจว่า สีของงานที่จะออกมานั้นจะใกล้เคียงกับสีของหน้าจอของคนทำ Artwork ไม่ออกมาเป๊ะ ๆ เนื่องจากว่าสีที่เห็นนั้นมันคนละ mode กัน หน้าจอเป็นสีที่เกิดจากการผสมของแสง เป็นโหมด RGB แต่งานพิมพ์นั้นเป็นการผสมของสีที่เป็นวัสดุโหมด CMYK แน่นอนว่ามันไม่ใสเท่าในหน้าจอแน่ ๆ มีบวกลบประมาณ 10% ทั้งนี้ต้องชัวร์เรื่องสีของหน้าจอเราด้วย ให้เอางานเก่าที่เคยพิมพ์ออกมาแล้ว เอามาเป็นหลักปรับสีให้ใกล้เคียงกับงานที่พิมพ์ออกมาให้มากที่สุด ก่อนส่งงานทำเพลท ให้ใส่ Mark ในงานให้ละเอีดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ขึ้นตอนการจัดการหนังพิมพ์ Prepress เสร็จทำได้ง่ายขึ้น
3. เมื่อตรวจและส่งทำเพลทแม่แบบเรียบร้อย เราต้องตรวจเพลทด้วยทุกแผ่นทุกตารางเซนติเมตร เผื่อร้านทำเพลททำเพลทมาสกปรก มีฝุ่นหรือรอยสก็อตเทปติดมาด้วย หรือแม้กระทั้งตัวหนังสือหรือสิ่งแปลกปลอมโผล่มาในเพลท บางครั้งปัญหาอาจเกิดขึ้นจากเครื่อง Rip ฟิล์มที่ไม่สามารถยิงออกมาได้ ด้วยปัญหา Software หรืออะไรก็ตาม หากมาตรวจเจอปัญหาตรงนี้ก่อนพิมพ์ก็ยังแก้ได้ และดีกว่าพิมพ์ไปแล้วถึงมาเจอปัญหาทีหลัง ซวยเลย
4.ขณะพิมพ์ ให้เข้าไปดูหน้าแท่นบ่อย ๆ เพื่อเช็คดูสีที่พิมพ์ออกมา เข้มไป สีเพี้ยน หรือสีจางไป หรือมีจุดเปื้อน ก็บอกช่างพิมพ์ให้แก้ไข เพราะช่างเขาก็พิมพ์ไปตามเพลท ไม่รู้ว่าสีที่เราตั้งใจให้ออกมามันอยู่ระดับไหน ทางที่ดีเรียกให้มาดูหน้าจอด้วยจะดีกว่า
5.เอางานที่พิมพ์เสร็จมาจัดเป็นรูปเล่มหรือทำออกมาตามที่ออกแบบไว้ ตรวจเช็คให้ดี รอยตัดที่ต้องการให้ตัดออกไปก็ขีดไว้ซะ ต้องการให้ปั๊ม Die-cut ตรงไหนก็ทำ Mark ให้ดี ๆ
หลัก ๆ ก็มีอยู่เท่านี้ แต่ในแต่ละข้อนั้นสามารถแยกย่อยออกได้อีกเยอะ ทางที่ดีควรทำเป็น Paper ไว้เช็คทุกขั้นตอนเลย และที่สำคัญคือ "ห้ามข้ามขั้นตอน" อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าข้ามขั้นตอนไปแล้วงานผิดนี่ เรารับเต็ม ๆ นะครับ (ส่วนใหญ่ที่ผิดเพราะข้ามขั้นตอนนี่แหละ) ถึงงานจะล่าช้าแต่ถ้ายังไม่ผ่านขั้นตอนที่เรากำหนดไว้ก็ไม่ควรปล่อยให้ผ่านครับ ดีกว่างานผิด แล้วใครรับผิดชอบ
0 comments:
Post a Comment