มีหลายคนที่เพิ่งจบใหม่ กำลังต้องการหางานที่ตัวเองรักอยากการเป็น "กราฟิกดีไซน์เนอร์" แน่นอนว่าแหล่งหางานสมัยนี้ก็หนีไม่พ้นหาในเน็ตนี่แหละ ในส่วนของรายละเอียดการรับสมัครงานที่เราหาเจอนั้น โดยส่วนใหญ่จะบอกให้ไปสมัครด้วยตนเองที่บริษัทเลย ทำไมเหรอครับ? นั่นเพราะนายจ้างต้องการสอบถามหรืออาจจะทดสอบงานไปในตัวเลย จะได้รู้ว่าคุณสมบัติตามความต้องการหรือเปล่า
แต่ก่อนจะข้ามไปขั้นตอนนั้น ผมอยากให้ลองอ่านรายละเอียดการรับสมัครที่ประกาศให้ดีเสียก่อน แล้วถามตัวเองว่าตรงตามนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าหวังจะแอบเนียนไปสมัคร ทั้งๆ ที่ประกาศไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า "อยากได้คนที่มีประสบการณ์ด้านงานพิมพ์ และใช้งานโปรแกรม Indesign ได้เป็นอย่างดี" แต่ตัวเองเป็น Indesign แค่งูๆ ปลาๆ เคยเปิดโปรแกรมนี้มาแทบนับครั้งได้ หรือเคยใช้งานมาเมื่อนานแล้ว ต้องอาศัยเวลารื้อฟื้นสักระยะ งานนี้ขอบอกไว้เลยครับว่าอาจจะเสียเวลาทั้ง 2 ฝ่ายเลยก็ได้ เสียเวลาเดินทาง เสียค่ารถไปสมัคร ส่วนอีกฝ่ายเสียเวลาถามเจาะข้อมูลเราว่าใช้งานได้หรือไม่
โดยส่วนตัวแล้วเคยมีประสบการณ์สัมภาษณ์งานมาบ้าง เพราะคนที่จะรับเข้ามาทำงานด้วยในทีมเดียวกับเรา ผมจะรู้ว่าคนนั้นใช้การได้หรือไม่ ขอนอกเรื่องสักนิด ผมเองเกิดความรู้สึกว่า การทำงานที่ผ่านมา คนที่เคยร่วมงานกันที่ออกๆ ไปนั้น จะอยู่ไม่นาน เข้ามาแปบๆ ก็ออกไปแล้ว ซึ่งหากลองพินิจดูแล้ว สาเหตุหลักๆ ก็คือ "การไม่มีจิตใจตั้งมั่นในการทำงาน" ทำงานไปวันๆ ไม่มีความกระตือรือล้นในการแสวงหาความก้าวหน้า ถึงตอนออกไปจะใช้คำพูดอ้างเหตุผลอะไรก็ตามแต่ แต่สรุปสั้นๆ ว่า "ไม่มีใจ" แต่ช่วงเวลาที่ทำงานร่วมกันนั้น การสอนองค์ความรู้ต่างๆ ในการทำงาน คนสอนนี่เหนื่อยเหมือนกันนะ กว่าจะเป็นงานนี่ บางทีหลายเดือนเลย งานผมก็ไม่เดิน เพราะมัวแต่สอนงาน ระบบงานก็สะดุดคิดๆ ขัดๆ พอเป็นงานก็ลาออกไป เอ้อ ให้มันได้งี้สิ เลยตัดปัญหาเรื่องนี้ไปด้วยการเติมคำว่า "มีประสบการณ์ในการทำงาน" ลงไปในประกาศรับสมัครด้วยซะเลย
แต่ผลที่ออกมาก็คือ 8 ใน 10 ที่มาสมัครงาน คือประเภท "ขอให้ได้สมัครไว้ก่อน" อย่างงี้ไม่เอาแน่ๆ ครับ ถามว่ารู้ได้ไงว่าเป็นประเภทนี้ ก็ง่ายๆ ครับ สัมภาษณ์ด้วยการถามคำถามเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมนี่แหละครับ คนที่ตอบได้ก็น่าจะโอเค
ด่านที่นายจ้างตั้งไว้ จริงๆ ก็มีไม่กี่ด่านหรอกครับ
ด่านที่ 1 คำถามลองเชิง
สำหรับการรับคนเข้าทำงานสักคนหนึ่ง เราก็ต้องการรู้ว่าคนๆ นั้นทำอะไรได้บ้าง บางคนไม่ผ่านด่านนี้ตั้งแต่คำถามแรกแล้วครับ
เช่น บริษัทหนึ่ง ต้องการรับกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ ที่มีประสบการณ์ในด้านงานพิมพ์ และใช้โปรแกรม Indesign ได้เป็นอย่างดี
---------------------------------------------------
Q: เป็น Indesign มั๊ย?
A: ชะงักไปนิด แล้วตอบว่า "พอเป็นครับ/ค่ะ"
กรณีนี้ก็ไม่ผ่านครับ จังหวะนั้นจะรู้เลยว่า ไม่น่าจะเป็นถึงขนาดใช้งานหรือผ่านประสบการณ์ในการใช้งานมาก่อน เพราะถ้าคนที่เป็นจริงๆ เขาก็ตอบด้วยความมั่นใจครับ ไม่มีชะงัก ก็มีบางคนตอบว่า "พอเป็น" เหมือนกัน แต่ตอบทันทีที่ถาม ไม่ออกอาการชะงักคิด อันคำว่า "พอเป็น" ของบางคนนี่อาจจะอยู่ระดับเทพเลยก็ได้นะ อาจจะพูดถ่อมตัว ก็ต้องพิสูจน์ในด่านต่อไป ส่วนคนที่ตอบว่า "เป็นครับ" ด้วยความมั่นใจ ก็ผ่านข้อนี้ไปได้
---------------------------------------------------
สรุปในด่านแรก : หากต้องการผ่านด่านนี้ เราต้องตอบอย่างมั่นใจไปเลยว่าทำได้ เพราะถ้าทำได้จริงๆ เรื่องคำถามข้อที่ 2 ข้อที่ 3 ต่อไปก็ตอบได้อยู่แล้ว ในขั้นตอนนี้ผู้สัมภาษณ์งานจะเก็บข้อมูลไว้ประเมินผลในใจแล้วว่าความสามารถของผู้สมัครงานอยู่ในระดับไหน
ด่านที่ 2 โชว์ทักษะ
ในขั้นตอนนี้จะเป็นตัวชี้วัดเลยว่าจะอยู่หรือจะไป (บางที่ก็ไม่มีขั้นตอนนี้เนื่องจากในขั้นตอนที่ 1 ได้ยิงคำถามกระหน่ำใส่ผู้สมัครจนพรุนไปเรียบร้อยแล้ว ตอบได้ชัดเจนฉะฉานและฉลาด ก็ผ่านรับเข้าทดลองงาน) การให้ลงมือโชว์ทักษะที่ตัวเองมีนั้น ผู้สมัภาษณ์จะเห็นขั้นตอนการทำงาน การแก้ปัญหาโจทก์ที่วางยาเอาไว้ ดูซิว่าจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อย่างงานโรงพิมพ์นี่บอกได้เลยว่าการแก้ปัญหานั้นเป็นสิ่งที่ควรมีอยู่กับตัวบ้าง ไม่ใช่มีปัญหานิดๆ หน่อยๆ ก็ต้องให้รุ่นพี่แก้ไขให้ตลอด มันต้องพึ่งพาหาคำตอบด้วยตัวเองบ้าง สบายไปก็ไม่ดีนะ เดี๋ยวจะชิน
ยกตัวอย่าง เอาที่ผมทำมานี่แหละ เห็นมากับตา โดยโจทก์ที่วางไว้ก็ไม่ได้ยากเลย คือ จัดหน้าหนังสือ 5 หน้า โดยให้รูปที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่จะจัดหน้า แต่รูปก็ไม่ได้สวยเท่าไหร่นะ ต่อมาก็ข้อความที่จะใช้ ให้ไปเป็นไฟล์ Word ต่อมาแอบใจดีนะ ให้ Template งานไปด้วย แถมด้วยมีเน็ตไว้หารูปสวยๆ มาใช้ประกอบงาน ส่วนเวลาไม่กำหนด
แต่... เสียดายที่ 7 ใน 10 ไม่ได้ใช้เน็ตให้เป็นประโยชน์ บางคนถึงขนาดมั่นใจทำไฟล์ใหม่ ไม่ใช้ Template ที่ให้ไปด้วยเลยนะ แต่งานที่ออกมามันก็ผิดอ่ะ แล้วเวลาที่ใช้นี่ งาน 5 หน้าที่ให้จัด ก็ไม่น่าเกิน 1 ชั่วโมง เพราะไม่ได้เป็นงานที่อัดกราฟิกเลย (เพราะไม่ใช่งานหน้าปกหนังสือ โปสเตอร์ หรือแผ่นพับ) แค่ต้องการหน้างานที่ออกมาสวยงามตัวหนังสือจัด tab เรียบร้อย อ่านชัดเจน แค่นั้นแหละ
----------------------------------------------
สรุปด่านที่ 2 วางแผนการทำงานให้เรียบร้อยก่อนค่อยลงมือ ทำงานตามโจทก์ที่กำหนดให้ เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์และฝีมือลงไปในงานอย่างลงตัว
ถ้าผ่านมาถึงตรงนี้ได้ ที่เหลือก็ไม่น่าจะมีอะไรแล้วครับ
เอาไว้คราวต่อไปจะมาเจาะรายละเอียดในขั้นตอนที่ 2 ให้อ่านกันครับ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment