Windows 7 เกือบเจ๊งแล้วมั๊ยล่ะ


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ประสบเหตุปวดตับอยู่ครึ่งค่อนวัน สาเหตุเพราะคอมที่ใช้งานอยู่ เกิดเอ๋อขึ้นมาซะงั้น ก็หาวิธีแก้ไขจนกลับมาใช้การได้ เลยเอามาเล่าให้ฟังเผื่อใครที่เจอปัญหาลักษณะอาการคล้ายๆ กัน จะลองเอาไปแก้ไขดู

เรื่องของเรื่องก็คือ คอมพิวเตอร์เจ้ากรรมอยู่ดีๆ ก็ค้างอยู่ที่หน้า Welcome รอนานมาก รอแล้วรออีกก็ยังไม่เข้าหน้าจอ Desktop อ้อ ลืมบอกไปว่าผมใช้ Windows 7 64bit เนื่องจาก โปรแกรมชุด Adobe CS5 อย่าง After Effects และ Premiere ต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่เป็น 64bit ถึงจะติดตั้งโปรแกรมลงไปได้ เข้าเรื่องต่อนะครับ พอมันค้างอยู่นานเข้า ผมเลยกดรีเซ็ตเครื่อง แล้วลองเข้า Safe mode ปรากฏว่าเข้าได้ไม่มีปัญหา เครื่องก็ไม่น่าโดนไวรัส เพราะไม่ได้เข้าเว็บแปลกประหลาดหรือไปโหลดโปรแกรมแปลกๆ มาลง นึกไปนึกมา ได้ข้อสันนิษฐานมาอีกข้อคือ Windows เน่า โดยส่วนใหญ่ที่เกิดอาการเข้าหน้า Desktop ไม่ได้ จะมาจากไฟล์บางตัวเสียหาย แล้วจะรู้ได้ไงว่าไฟล์ตัวไหนมันเจ๊งล่ะทีนี้

เดชะบุญครับพี่น้อง ตอนลง Win7 ใหม่ๆ ได้ลงโปรแกรม Windows 7 manager ไว้ด้วย ซึ่งเป็นโปรแกรมใช้สำหรับปรับแต่ง ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบปฏิบัติการ Windows 7 ก็ลองให้มันซ่ค้นหาและซ่อมไฟล์ดู ช่วงเวลาที่รอก็นึกไปถึงว่าต้องลง Windows ใหม่ล่ะมั๊ง ถึงจะ Ghost เอาไว้แล้วก็เถอะ แต่โปรแกรมบางตัวก็ต้องมาลงใหม่ ไหนจะต้อง Backup ข้อมูลอีก ยาวแน่ๆ เลยงานนี้ ผ่านไป 30 นาที โปรแกรมแสกนเสร็จ ก็มาลุ้นกันอีกที ปรากฏว่าคราวนี้เข้าได้ไม่มีปัญหา แต่ระบบที่ Overclock เอาไว้ หายเกลี้ยง ต้องมาตั้งค่าใหม่ใน BIOS

ใครที่ใช้ Windows 7 อยู่ แต่ละคนก็เจอปัญหาต่างๆ กันไปครับ แต่รู้สึกว่ามันรวนๆ แปลกๆ เหมือนคนไม่สมประกอบยังไงไม่รู้ ผมลงใหม่มาประมาณ 3 รอบแล้ว แต่ละครั้งก็มีเหตุปัญหาไม่ซ้ำกันเลย แต่ไอ้ที่เจอบ่อยๆ แล้วเครื่องรวนนี่จะเป็นเพราะ ไฟกระตุก ไฟดับ Shutdown ไม่ถูกวิธี (อย่างเช่น กด Power ปิดเครื่อง)

ยังไงซะ กราฟิกดีไซน์เนอร์ อยู่กับคอมพิวเตอร์เกือบตลอดวัน ควรมีความรู้ในเรื่องการบำรุงรักษาเครื่องมือหากินของเรา ให้ใช้งานได้เป็นปกติสุข ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาทีต้องให้ช่างมาดูซะทุกครั้ง มันต้องช่วยตัวเองบ้าง งานจะได้เดินอย่างราบรื่น เนาะ

การใส่ตัวอักษรพิเศษลงไปในงานที่ทำโดย Indesign โดยส่วนใหญ่จะเจอกับงานประมาณ หนังสือสวดมนต์ ภาษาบาลี ชื่อพระ หรือภาษาพิเศษอื่นๆ อย่างตั๋วเมือง (อักษรล้านนา) การใส่อักษรพวกนี้ สามารถทำได้โดยการใช้เมนูที่มีชื่อว่า Glyphs ซึ่งจะมีช่องแสดงอักษรต่างๆ ที่ font ที่เราเลือกอยู่นั้นมีอยู่ทุกตัว เราสามารถ Double click ที่อักษรเพื่อแทรกตัวอักษรที่ต้องการลงไปในตำแหน่งนั้นๆ เช่นตัว ญ หรือ ฐ ที่ไม่มีเชิง การใส่จุด หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างรูปโทรศัพท์ ซองจดหมาย ถ้า font นั้นมีอยู่ นอกจากนี้ยังสามารถใช้แก้ไขเรื่องตำแหน่งตัวอักษรบางตัวที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีการที่ได้เคยกล่าวไปแล้วในบทความก่อนๆ

สิ่งที่ต้องรู้ในการไล่สี Gradient

การไล่ Gradient ลงไปในงาน ทำให้งานที่ออกมามีมิติมากขึ้น ดูจับต้องได้ งานที่ออกมาไม่ดูเหมือนกระดาษตัดแปะ เทคนิคนี้นิยมใช้กันเพื่อให้ Artwork มีความน่าสนใจ และสามารถช่วยเน้นองค์ประกอบบางจุดให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

การไล่สี Gradient นั้น รู้หรือไม่ว่า หากตั้งค่าสีเข้มลดลงไปสีอ่อน จากส่วนที่เข้ม 100 เปอร์เซนต์ลดหลั่นลงไปนั้น รอยต่อระหว่าง 100 เปอร์เซนต์ กับ 99 เปอร์เซนต์ จะทำให้งานมีรอยเส้นขึ้นมา วิธีแก้ไขก็คือ ให้ตั้งค่าสีที่เข้มให้อยู่ที่ 95 เปอร์เซนต์ แล้วค่อยไล่สี จะทำให้ Gradient ที่ใช้อยู่มีความกลมกลืนกันมากขึ้น และนอกจากส่วนที่เข้มแล้ว ส่วนที่ค่าสีอ่อนเป็น 0 เปอร์เซนต์ เพื่อต้องการไล่สีไปเป็นสีขาว แนะนำว่า ควรมีค่าสีอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซนต์ เพื่อไม่ให้งานที่พิมพ์ออกมาเกิดเป็นรอยเส้นขึ้นมาเช่นกัน

จอมอนิเตอร์กับความหายนะของสี


จอมอนิเตอร์ที่เราจ้องอยู่กันทั้งวันนี้ รู้หรือไม่ว่า สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับงานพิมพ์ได้อย่างมโหฬาร จำได้ติดตรึงใจไม่มีลืม เพราะเจอมากับตัวเองเต็มๆ 

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตอนที่ยังเพิ่งเริ่มจับงานกราฟิก ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการ calibrate สีหน้าจอ เลยปรับหน้าจอให้สว่างและให้เห็นงานชัดๆ จนกระทั่งหายนะมาเยือน เมื่องานที่พิมพ์เสร็จออกมาแล้ว รูป 4 สีแต่ละรูปที่พิมพ์ออกมา เหมือนถูกฉาบด้วยสีเหลืองอีกชั้นหนึ่ง ผิวคนงี้เหลืออ๋อยเหมือนคนเป็นดีซ่าน มาหาสาเหตุเจอว่าเป็นเพราะหน้าจอเรานี่เองแหละที่เป็นต้นเหตุ

จอ LCD โดยส่วนใหญ่ ถ้าไม่ได้ปรับสี หน้าจอจะออกสว่าง ทำให้ส่วนที่เป็นสีเหลืองจางไป แต่จริงๆ แล้ว สีเหลืองมันยังอยู่ ผมใช้วิธีแก้ปัญหาแบบลูกทุ่งนี่แหละครับ เพราะไม่มีเครื่อง calibrate สีหน้าจอ เลยเอางานพิมพ์ที่เคยพิมพ์ออกมาแล้ว เอามาเทียบกับ Artwork ที่หน้าจอมันซะเลย ปรับให้ใกล้เคียงกันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปรากฏว่า ทุกวันนี้หน้าจอผมจะมืดๆ แต่เวลางานพิมพ์ออกมาจะใกล้เคียงกัน ซึ่งวิธีนี้ได้ผลอย่างน่าพอใจ แต่ผมยังไม่ไว้ใจถึงที่สุดเรื่องของสีเหลืองเนี่ย ผมจะคอยเช็คดูค่าสีโดยใช้หลอดดูดสีแล้วดูค่าสีเหลืองอยู่ตลอด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก

หัตถ์ซ้ายเทพเจ้า

ความเร็วในการทำงาน ถือเป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่กราฟิกดีไซน์อย่างเราควรมีติดตัวไว้ ผมเห็นหลายคนมีความเร็วในการคลิกใช้เครื่องมือต่างๆ ทำงานสูง และแม่นยำ แต่ทีนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่ใช้วิธีเดียวกัน แต่ไม่เร็วพอที่จะทำให้งานเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะของเหล่านี้อยู่ที่การฝึกฝน แต่เคยคิดดูดีๆ หรือเปล่าว่า นอกจากจะใช้วิธีคลิกในการเลือกใช้เครื่องมือทำงานแล้ว เรายังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะทำให้งานเร็วขึ้น

คำตอบคือ มี

วิธีที่ว่าก็คือ การใช้คีย์ลัด (shortcut) ต่างๆ ที่มีอยู่ด้วยมือซ้ายของเรา การใช้คีย์ลัดอย่างชำนาญ เราจะทำงานได้เร็วขึ้นอีกหลายเท่า ย้ำนะครับว่า อีกหลายเท่า!! ดังนั้นอย่าปล่อยให้มือซ้ายว่างเว้นการทำงานครับ ใครที่คิดว่ามันยุ่งยากขี้เกียจจำ ขอบอกว่า "กำลังคิดผิด" ให้ฝึกใช้ การใช้คีย์ลัด (shortcut) ไปเรื่อยๆ นานเข้า เราจะใช้มันออกมาเองตามธรรมชาติเลยล่ะ และบางครั้งถึงขนาดว่า เวลามีคนมาถามว่ากดปุ่มไหนบ้าง เรายังลืมเลยล่ะ แต่เวลาทำงานมือมันไปเองโดยอัตโนมัติและสัมพันธ์กับมือขวาเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยทีเดียว

เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ขณะกำลังหาข้อมูลใน google อยู่ บังเอิญไปโผล่เว็บนี้เข้า www.wix.com เห็นว่าน่าสนใจเลยเอามาบอกต่อ 

เว็บนี้เป็นเว็บที่ให้เราสร้างเว็บไซต์ Flash ฟรีได้เลย ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือ และ Template สำเร็จรูปก็มีมาให้ค่อนข้างครบครัน ใช้งานและทำความเข้าใจได้ง่าย แต่เว็บฟรีนี่ชื่อโดเมนจะเป็นชื่อของ Wix แล้วตามด้วยชื่อเรา แต่ถ้าเราอยากได้เว็บไซต์ที่ชื่อเป็นของเราเอง และปรับแต่งได้เต็มที่ เขาก็มีบริการตรงส่วนนี้ให้ครับ ตรง eCommerce นี่น่าสนใจครับ มีระบบฐานข้อมูลมาให้เลยด้วย แต่ไม่ฟรีนะ ว่าแล้วก็ไปลองกันเล่นกันดูก่อน ใช้ทำเป็นเว็บ Portfolio เก็บผลงานของตัวเอง หรือจะไว้เป็นที่เก็บอัลบัมรูปสวยๆ ก็ยังได้

ก่อนจบขอบอกไว้อีกอย่างครับว่า ตอนนี้ยังไม่รองรับภาษาไทยครับ - -"


หลายคยคงคุ้นหูกับคำว่า Double Click มากกว่า Triple Click เพราะไม่ค่อนได้ใช้งาน หรือไม่รู้ว่ามันมีมาให้ใช้ด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า การคลิกนั้น สามารถทำให้การจัดหน้างานที่มีตัวหนังสือเยอะๆ ทำได้ง่ายและประหยัดเวลามากขึ้น


Double Click (การคลิก 2 ครั้งต่อกัน)

ปกติเวลาเราต้องการแก้ไขตัวหนังสือหรือคำผิดบางคำที่อยู่ในพารากราฟ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีป้ายเพื่อเลือกคำนั้น เช่น

-------------------------------------------------

ต้องหารแก้ไขคำให้ถืกต้อง

แก้เป็น

ต้องการแก้ไขคำให้ถูกต้อง

-------------------------------------------------

แต่ถ้าเป็นคำที่มีช่องว่างหรือสัญลักษณ์คั่นอยู่ เราสามารถ Double Click เลือกคำๆ นั่นได้เลย โดยไม่ต้องป้ายให้เสียเวลา เช่น

ไม่ฝึกฝน ไม่อดทน ไม่พยายม แลัวจะเก่งได้ยังไง

แก้เป็น

ไม่ฝึกฝน ไม่อดทน ไม่พยายม แลัวจะเก่งได้ยังไง

-------------------------------------------------

นอกจากนี้แล้ว ที่ใช้  Double Click ได้ใช้บ่อยๆ ก็คือคำที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูด "Text"
เพื่อเน้นตัวหนังสือให้เป็นตัวหนา และใช้กับการเลือกช่องว่างเว้นวรรคที่เคาะต่อกันหลายครับได้อีกด้วย


Triple Click (การคลิก 3 ครั้งต่อกัน)

การใช้ Triple Click จะใช้เลือก Text ทีละบรรทัด หรือเลือกทั้งพารากราฟ



ก็ลองนำไปทดลองใช้กันดูนะครับว่าจะถูกใจกันหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ สามารถช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นถ้าใช้อย่างชำนาญครับ

วิธี proof งานกับลูกค้า

ก่อนส่งงานออกฟิล์มทำเพลทหรือส่งให้โรงพิมพ์ การปิดงานกับลูกค้าอย่างชัดเจน จะช่วยลดปัญหาลงอีกเยอะ ดังนั้นก่อนถึงขั้นตอนดังกล่าว เราต้องส่งงานให้ลูกค้าดูและตรวจทางให้เราด้วย ซึ่งบางงานอาจจะต้องตรวจกันอยู่หลายรอบ เรามาดูกันครับว่า วิธี Proof งานกับลูกค้ามีอะไรบ้าง
  • Print ตรวจ : วิธีนี้เหมาะสำหรับงานที่มีจำนวนหน้ามากๆ อย่างหนังสือ เรา Print ออกมาจาก Printer นี่แหละ เรียงหน้าให้ถูกต้อง และหากเจอลูกค้าที่ไม่สันทัดเรื่องเทคโนโลยี หรือเข้าใจอะไรได้ยาก ก็อาจจะต้องเอามาเรียงหน้าให้เหมือนตอนเปิดหนังสือออกมาจริงๆ อย่างงาน A5 เรา Print ลง A4 ได้ 2 หน้า ก็เอามาพับครึ่งเรียงหน้าแล้วก็หนีบรวมกัน หรือจะเป็นงาน A4 ก็อาจจะ Print ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ให้หน้าเรียงกันได้ถูกต้อง วิธีนี้ดีครับ หากข้อมูลส่วนไหนขาดหรือยังสับสน เราสามารถเขียนโน็ตไว้ให้ลูกค้าได้ในตำแหแน่งนั้นเลย เวลาตรวจลูกค้าจะได้แก้ไขลงบนหน้างานได้ทันที และสามารถเขียนความต้องการลงไปในนั้นได้ด้วย เวลาเราเอามาเช็คความถูกต้องอีกที ก็สามารถเช็คไปทีละจุดได้อีกด้วย แต่หากเจองานที่ต้องตรวจกันหลายครั้ง ต้องปริ้นกันเยอะ เปลืองไม่ใช่เล่น 
  • Print Digital : เหมาสำหรับงานที่ลูกค้าต้องการเห็นเป็นชิ้นงาน และสีที่ออกมาจะใกล้เคียงกับงานที่พิมพ์ออกมาแล้ว เป็นงานพวกแผ่นพับ โปสเตอร์ ใบปลิว ที่จำนวนหน้าน้อย หรือหากลูกค้าต้องการตรวจงานหนังสือโดยวิธีนี้ ก็คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไปครับ เพราะราคาค่อนข้างสูง เครื่อง Print Digital จะเป็นเครื่องใหญ่ๆ ครับ ที่เห็นส่วนมากจะใส่กระดาษได้ขนาดใหญ่กว่า A3 ไปนิดหน่อย ลองหาแหล่งดูครับ ตามร้านที่รับทำหนังสือจำนวนน้อย
  • ส่งตรวจทาง E-mail : สำหรับงานส่งตรวจทางอีเมล์ มีวิธีแยกออกไปอีกดังนี้ครับ
    •  ส่ง pdf ให้ตรวจ วิธีนี้ง่ายครับ ใช้ได้ดีกับงานหนังสือ โดยเราอาจจะต้องบอกวิธีการทำเครื่องหมายตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไข และใส่ข้อความที่ต้องการบอกและรายละเอียดลงไปในไฟล์ pdf
    • การส่งไฟล์เป็นรูป jpg : เราสามารถ Export งานออกมาเป็น jpg ในโปรแกรม Indesign ได้เลย เหมาะสำหรับงานที่มีจำนวนหน้าน้อย อย่าง โปสเตอร์ แผ่นพับ ใบปลิว
    • หากไฟล์งานที่ต้องการส่งให้ดูนั้น มีขนาดใหญ่เกินกว่า 10Mb ให้หาที่ฝากไฟล์แล้วส่ง link สำหรับ Download ให้ไปทางอีเมล์ เพราะเท่าที่เจอมา ลูกค้าส่วนใหญ่จะใช้ Hotmail ซึ่งไม่สามารถส่งเมล์ไฟล์ที่มีขนาดเกิน 10Mb ได้ (Gmail ได้ 25 Mb)
    • แนะนำว่าควรใช้บริการของ Gmail เนื่องจากมีเครื่องมือในการจัดการอีเมล์ได้ดี และมีส่วนเสริมอื่นๆ มาให้ใช้งานเพื่อการทำงานที่คล่องตัวขึ้น (เคยใช้งาน Hotmail แล้วเจอปัญหาลูกค้าส่งงานมาให้ แล้วพี่ Hotmail ก็หวังดีกลังเราเจอไวรัส เลยเปลี่ยนชื่อไฟล์ บางครั้งก็ตัดนามสกุลไฟล์ออกไปซะงั้น เลยไม่รู้ว่าจะต้องใช้โปรแกรมอะไรเปิด เลยเกิดความรู้สึกรุงรังขั้นมา) ที่สำคัญ Gmail ยังให้พื้นที่ใช้งานที่เยอะ เก็บเมลได้มาก
  • ตรวจงานที่หน้าจอเราเลย : วิธีนี้ไม่เหมาะกับการแก้งานหนังสือครับ เพราะ จะใช้เวลาเยอะ บางครั้งเราต้องนั่งแก้งานกับลูค้าเป็นวันๆ เลย ซึ่งจริงๆ แล้ว หาก Print ให้ตรวจ แล้วเราค่อยมาแก้ไขทีหลัง จะใช้เวลาน้อยกว่า เราเอาเวลาที่รอลูกค้าตรวจไทำอย่างอื่นจะดีกว่า และที่สำคัญครับ ต้องใช้สติพอสมควร ความคุมอารมณ์ให้อยู่ หากลูกค้าต้องการแก้ไขงาน และทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกมาก หรือทำให้งานยุ่งยากซับซ้อนขึ้น ก็ต้องหาวิธีพูดและอธิบายให้เข้าใจครับ (แต่ถ้าผลตอบแทนสูงคุ้มค้ากับการแก้ไขก็ทำไปเถอะ)
หลักๆ ก็มีอยู่ไม่กี่วิธีครับ แต่ที่ต้องกำชับก็คือ อย่าให้ลูกค้าโยนภาระการตรวจงานมาให้เราทั้งหมด เพราะบางครั้งเราตรวจได้แค่คำถูก-ผิดธรรมดา แต่ถ้าเจอหนังสือที่มีเนื้อหาจำเพาะ เราก็ไม่ได้รู้เนื้อหาที่เขียนลงไปในงาน แล้วก็ใครจะมารู้ดีเท่าเจ้าของงานครับ ถึงลูกค้าไว้ใจเราขนาดไหน ยังไงซะก็ต้องให้ตรวจ และตรวจอย่างละเอียดด้วย เซ็นชื่อกำกับไว้ว่าตรวจแล้วเลยยิ่งดี เพราะจะได้ตระหนักว่า หากงานพิมพ์ออกมาแล้วผิด ลูกค้าต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย

โปรแกรมที่จำเป็นต้องเป็น


สำหรับโปรแกรมที่เราใช้จัดหน้างาน นับดูหลักๆ ก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่เป็นข้อสังเกตว่า เวลาสถานประกอบการแต่ละแห่งนั้น รับสมัครพนักงานกราฟิก จะระบุโปรแกรมที่ต้องใช้ในงานลงไปด้วย แต่ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งครับ ที่ผู้มาสมัครงาน จะเป็นอยู่แค่ไม่กี่อย่าง บางคนเป็นแค่โปรแกรมเดียวด้วยซ้ำ จะพบในลักษณะของ คนที่จบใหม่ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำงาน พอใช้เป็นนิดหน่อย แต่เอาเข้าจริงกว่าจะได้งานออกมาแต่ละชิ้นใช้เวลานาน อีกพวกหนึ่งคือ กราฟิกที่ค่อนข้างมีอายุและไม่อัพเดทตัวเองอยู่เสมอ สังเกตได้จากการใช้งานโปรแกรมเวอร์ชั่นเก่าๆ เดิมๆ อย่างเหนียวแน่น ไม่ลองโปรแกรมเวอร์ชั่นใหม่ๆ ดู บางคนอ้างว่าใช้ไม่เป็น ก็งงอยู่เหมือนกันว่า ถ้าใช้ไม่เป็น ทำไมไม่หัดให้เป็น พื้นฐานในการใช้งานก็มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวอร์ชั่นใหม่จะมีอะไรเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงมาไม่กี่อย่างหรอกครับ เรื่องเวอร์ชั่นของโปรแกรมเดี๋ยวเอาไว้คุยกันในคราวหน้าดีกว่า เพราะคิดว่าคงยาวแน่ๆ ถ้าคุยเรื่องนี้

ต้องยอมรับครับว่า การใช้งานโปรแกรมได้หลากหลาย จะได้เปรียบชาวบ้านเค้า เพราะถ้าเราทำงานได้หลายโปรแกรม เราก็มีเครื่องมือที่จะสร้างสรรงานออกมาได้มีชีวิตชีวา และตอบสนองภาพในหัวเราที่จะถ่ายทอดออกมาในงานได้ใกล้เคียงยิ่งขึ้น

กราฟิกดีไซน์เนอร์ของงานสิ่งพิมพ์นั้น จำเป็นต้องใช้งานโปรแกรมอะไรได้บ้าง

  • Indesign โปรแกรมนี้ใช้สำหรับจัดหน้างานสื่อสิ่งพิมพ์ได้เป็นอย่างดี ทั้งหนังสือ โบร์ชัวร์ แผ่นพับ และบางครั้งก็ใช้ทำงานป้ายที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ลืมบอกไปอีกอย่างครับคือ ใช้ทำ e-book หากจะอธิบายบุคลิกของโปรแกรมนี้ให้เห็นภาพโดยรวมง่ายๆ ก็คือ เป็นโปรแกรมที่เอาข้อมูลต่างๆ มาประกอบเป็นงานขึ้นมา โดยจะมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกที่เน้นไปทางการจัดการเกี่ยวกับ Text ตัวหนังสือ และการจัดวางองค์ประกอบ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำกราฟิกอื่นๆ ไม่ได้เลย เพราะเรายังสามารถใส่ลูกเล่น สร้างรูปร่างวัตถุ ใส่เงา ใส่ขอบ และอื่นๆ ได้อีกเยอะพอสมควร หากคิดจะทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมนี้ต้องใช้งานได้อย่างชำนาญครับ ไปสมัครงานที่โรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ โอกาสที่จะได้งานมีสูงครับ
  • Photoshop คงไม่ต้องบอกอะไนมากกับโปรแกรมนี้ หลายคนเป็นโปรแกรมนี้โปรแกรมแรก (รวมถึงผมด้วย) ใช้จัดการกับรูปต่างๆ ที่จะเอามาจัดวางใน Indesign หรือจะเป็นงานที่จบใน Photoshop อย่างเช่น ปกหนังสือ โปสเตอร์ ที่มีตัวหนังสือไม่เยอะจนเกินไป (ถ้าเยอะ แนะนำให้ใส่ Text ใน Indesign จะดีกว่า)
  • Illustrator โปรแกรมนี้จะใช้กับงานที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น งาน Vector ต่างๆ Icon Logo งานฝีมือ งานที่เป็นลักษณะ ชิ้นเดียวจบ ไม่ใช่งานที่ทำเป็นปริมาณมาก เช่น หนังสือ ใครที่ใช้โปรแกรมนี้ทำหนังสือ ขอบอกไว้เลยนะครับว่า คุณกำลังสร้างงานที่มีปัญหาตามมาอีกเยอะ
  • Adobe Acrobat Pro โปรแกรมนี้ไม่ใช่เอาไว้จัดหน้างานหรือทำส่วนของ Artwork แต่จำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของโปรแกรมด้วย ซึ่งเป็นส่วน Output ในเรื่องของการส่งงานเพื่อตรวจ proof พิสูจน์อักษร การออกฟิล์มทำเพลท การทำ e-book หรือแม้กระทั่งการ Print ออกเครื่อง Printer โปรแกรมนี้มีบทบาทอย่างมาก และทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นครับ
4 โปรแกรมนี้ ผมเปิดใช้งานทุกวัน บางครั้งก็เปิดใช้งานทั้ง 3 โปรแกรมใช้เวลาเดียวกัน ส่วนโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้งาน จะเป็นพวก Plugin ต่างๆ หรือโปรแกรมเสริมที่ช่วยจัดการส่วนต่างๆ ให้เร็วขึ้น เช่น โปรแกรมทำรูปถ่ายให้เป็นภาพวาด โปรแกรมรวมรูปหลายๆ รูปให้เป็นรูปเดียว เหล่านี้จะช่วยปรหยัดเวลาในการทำงานครับ แต่สุดท้ายก็มาจบที่ 4 โปรแกรมที่กล่าวไว้ข้างต้น
ความเชี่ยวชาญ เกิดขึ้นมาจากการฝึกฝน ไม่มีทางลัดครับ


การออกแบบงานจัดหน้าหนังสือ และการตรวจคำถูก-ผิด หลายคนมองข้ามความสำคัญตรงส่วนนี้ไป จริงอยู่ที่ว่าในบริษัทใหญ่ๆ หรือที่ๆ มีงานชุกพอที่จะจ้างฝ่ายพิสูจน์อักษรมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แต่ถ้าไม่มีล่ะครับ จะทำยังไง?

ผมเห็นน้องๆ หลายคนหรือแม้แต่พี่ๆ บางท่าน ยังพิมพ์ภาษาไทยไม่ถูก แล้วก็เอาความเข้าใจผิดๆ ไปใช้กับงาน จนเป็นเหตุให้เกิดเรื่องขึ้นมา มีอยู่ครั้งหนึ่ง งานออกมาเป็นเล่มแล้ว มีคำผิดตัวเป้งพิมพ์หราอยู่ที่หน้าปก ต้องพิมพ์งานนั้นใหม่อีกรอบ กลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะตัวอักษรเพียงตัวเดียว บางคนก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่ได้ตั้งใจให้พลาดหรอก แต่ด้วยความรู้อันจำกัดที่ไม่รู้ว่าพจนานุกรมทั้งไทย ทั้งอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ มันมีอยู่ใน Internet บางคำที่เราไม่แน่ใจก็ใช้มันตรวจสอบความถูกต้อง เสียเวลาเพิ่มอีกนิดดีกว่างานออกมาผิด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วบางคนก็ไม่ได้จำและไม่ใส่ใจ วนเวียนอยู่อย่างนั้นจนเป็นวงจรอุบาทว์กันไป

ความเข้าใจในเรื่องของภาษา ถือเป็นอีกทักษะหนึ่งที่ต้องฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติมไปเรื่อยๆ ครับ สำคัญนะครับ ที่ว่าสำคัญคืออะไร ขอแบ่งเป็นข้อๆ เท่าที่นึกออกละกันนะครับ

  • งานออกมาถูกต้อง
  • เมื่องานออกมาถูกต้อง ก็ไม่ต้องมีใครเจ็บตัวและเจ็บใจ และไม่โดนด่าด้วย
  • งานออกมาดี ลูกค้าก็ชื่นชม ให้เครดิตเราดีขึ้น งานก็มีมาให้คุณทำเรื่อยๆ
  • คุณจะได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ถูกต้อง บางครั้งถึงขนาดแปลกใจว่า ที่แท้คำบางคำ ความหมายที่จริงมันเป็นอย่างนี้นี่เอง และสามารถอธิบายให้คนอื่น รู้ที่มาที่ไปของคำที่ถูกต้องว่าต้องใช้อย่างไร ถือเป็นการช่วยชาติ ช่วยอนุรักษ์ภาษาไทยของเราไว้ (ถ้าเป็นภาษาอื่น คุณก็ได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้น ประโยชน์ก็ตกอยู่ที่ตัวคุณ)
  • หากทำงานออกมาผิดๆ นอกจากจะอายขายขี้หน้าแล้ว ผลที่ได้รับจะตรงกันข้ามกับข้อที่กล่าวมาข้างบนทั้งหมด
มันไม่ยากหรอกครับที่จะทำ เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง ถ้าได้ทำงานและไม่มีฝ่ายพิสูจน์อักษร ก็อย่าหวังไปพึ่งพาให้มากนัก พึ่งตัวเองให้มากที่สุดครับ อย่างน้อยๆ ถึงงานจะออกมาผิด แต่เราสามารถตอบกับตัวเองได้ครับว่า เราทำเต็มที่แล้ว แต่ทางที่ดีป้องกันไม่ให้งานผิดจะดีที่สุดครับ

ก่อนจบ ผมเอาดิกชันนารี่ฟรีมาให้ลองโหลดไปใช้กันครับ ใช้งานสะดวกดี
โหลดได้ที่

www.thaibuddy.com <--ดิชันนารี่ฟรี ฝีมือคนไทย ใช้งานสะดวก
www.palungjit.com/dict <--จริงๆ ว่าจะเอาของราชบัณฑิตยสถานมาให้ แต่เว็บนั้นขึ้นเตือนไวรัส
dict.longdo.com <-- ดิชันนารี่ออนไลน์ที่น่าใช้อีกที่ครับ

นอกจาก kuler ของ adobe แล้ว มีอีกเว็บหนึ่งที่น่าสนใจครับ ใช้งานง่ายด้วย สามารถดูโทนสีที่ตัดกัน หรือการไล่เฉดสี ก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจเลยครับ เหมือนสารานุกรมสีกันเลยทีเดียว ในนี้นอกจากจะเห็นตัวอย่างค่าสีแล้ว ในพื้นที่การแสดงผลยังแบ่งออกเป็นส่วนๆ บอกถึงเปอร์เซนต์ของสีที่ใช้แล้วดูสมดุลกัน แถมมีตารางระดับสีเล็กๆ ไล่เฉดอยู่ใกล้ๆ กันด้วย ทำให้ง่ายในการเลือกสีมาใช้ในงานกราฟิก เว็บไซต์ หรืออื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไปลองดูกันเองดีกว่าครับที่

Color Scheme Designer